คุณเคยไหม?
-กรนเสียงดังจนคนข้างๆ นอนไม่หลับ
-รู้สึกเหมือนหายใจสะดุดขณะหลับ
-ตื่นมากลางดึกโดยไม่ทราบสาเหตุ
-ง่วงมากผิดปกติระหว่างวัน แม้จะนอนครบ 7–8 ชั่วโมง
หากคำตอบคือ “ใช่” คุณอาจกำลังมีภาวะที่เรียกว่า “โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น” หรือ Obstructive Sleep Apnea (OSA)
✅ โรค OSA คืออะไร?
OSA เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจาก การอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ระหว่างที่หลับ เช่น โคนลิ้น หรือลิ้นไก่ที่หย่อนลงมาปิดหลอดลม ทำให้ผู้ป่วย หยุดหายใจชั่วคราวเป็นช่วงๆ ตลอดทั้งคืน โดยแต่ละช่วงอาจกินเวลานานตั้งแต่ 10 วินาที ถึงเป็นนาที
ผลที่ตามมาคือ สมองต้องปลุกให้ร่างกาย "ตื่นบางส่วน" เพื่อกลับมาหายใจ ส่งผลให้นอนหลับไม่สนิท และทำให้คุณรู้สึกเพลียเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว
อันตรายจาก OSA มีมากกว่าที่คิด
-ความดันโลหิตสูง
-หัวใจเต้นผิดจังหวะ
-โรคหัวใจขาดเลือด
-ภาวะหลับในขณะขับรถ
-เสี่ยงหลอดเลือดสมองตีบ
-สมรรถภาพทางเพศลดลง
-ภาวะซึมเศร้าและสมาธิสั้นเรื้อรัง
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น OSA?
การวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุดคือ การตรวจการนอนหลับด้วยวิธี Polysomnography (PSG) ในการตรวจหาความผิดปกติของการนอน
Polysomnography (PSG) คืออะไร?
PSG คือ การตรวจการทำงานของร่างกายขณะหลับ โดยคุณจะต้องนอนค้างที่ศูนย์ตรวจการนอนหลับ 1 คืน พร้อมติดอุปกรณ์พิเศษบนร่างกาย เช่น:
คลื่นสมอง (EEG) คลื่นหัวใจ (ECG) การเคลื่อนไหวของดวงตาและกล้ามเนื้อ การหายใจทางจมูกและปาก เสียงกรน ออกซิเจนในเลือด (SpO2) ตำแหน่งการนอน
ข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปให้แพทย์วิเคราะห์ ว่าคุณมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ และเป็นในระดับไหน (เล็กน้อย, ปานกลาง หรือรุนแรง)
เมื่อตรวจพบ OSA แล้วรักษาอย่างไร?
การรักษาโรค OSA มีหลายวิธี ขึ้นกับความรุนแรงของโรค เช่น:
-ใส่เครื่องช่วยหายใจ CPAP ขณะหลับ (วิธีที่ได้ผลที่สุด)
-ลดน้ำหนัก หากมีภาวะอ้วน
-ปรับท่านอน (เช่น นอนตะแคงแทนนอนหงาย)
-การผ่าตัด กรณีมีสิ่งกีดขวางทางเดินหายใจ เช่น ต่อมทอนซิลหรือลิ้นไก่ขนาดใหญ่
-เครื่องมือดันขากรรไกรล่าง (Oral Appliance) สำหรับรายที่ไม่สามารถใช้ CPAP ได้
เหมาะกับใครที่ควรเข้ารับการตรวจ PSG?
-คนที่ กรนเสียงดัง และมีคนบอกว่าเหมือนหยุดหายใจระหว่างนอน
-ง่วงกลางวันเรื้อรัง สมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย
-ผู้ป่วยโรคความดันสูง โรคหัวใจ ที่ควบคุมยาก
-คนที่มีภาวะหลับในขณะขับรถ
-ผู้ป่วยที่เตรียมผ่าตัดและสงสัยว่าอาจมีภาวะ OSA
✨ สรุป
โรคหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) อาจดูเหมือนเป็นแค่การกรน แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพในระยะยาว หากคุณมีอาการน่าสงสัย อย่าปล่อยไว้ การตรวจ Polysomnography (PSG) เพียงคืนเดียว อาจช่วย “ปลุกชีวิตใหม่” ที่นอนหลับเต็มอิ่มและมีพลังตลอดวันกลับมาอีกครั้ง